About

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ผลสำรวจไอคิวเด็กป.1ต่ำกว่ามาตรฐาน เด็กชนบทยิ่งน้อย เหตุขาดความอบอุ่น-โภชนาการไม่สมวัย

ผลสำรวจไอคิวเด็กป.1ต่ำกว่ามาตรฐาน เด็กชนบทยิ่งน้อย เหตุขาดความอบอุ่น-โภชนาการไม่สมวัย


เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวผลสำรวจระดับสติปัญญา (IQ) ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2557 จำนวน 4,929 คนทั่วประเทศ ว่า ผลการสำรวจพบว่าไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 93.1 จุด ลดลงจากการสำรวจครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 ซึ่งระดับไอคิวจะอยู่ที่ 94 จุด โดยเด็กในเมืองมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 100.72 จุด ส่วนชนบท ห่างไกลมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 89.18 จุด ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 100 จุด จากการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อระดับไอคิวของเด็กไทยคือ 1.เรื่องโภชนาการ กระทรวงได้เพิ่มสารไอโอดีนและโฟเลตให้กับหญิงตั้งครรภ์ และแม่ที่ให้นมบุตรอยู่แล้ว 2.การเลี้ยงดูของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จะมีพัฒนาการช้ากว่า 3.การเรียนรู้ระหว่างเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตรงนี้อยู่ในการดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิต จะเข้าไปเสริมในเรื่องของอาหาร และเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วย

 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องของกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา พบว่า พบสถานการณ์ที่ส่งผลต่อระดับไอคิวของเด็ก ที่สำคัญมี 3 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 เด็กมีโอกาสอยู่กับครอบครัวลดลง โดยอยู่กับพ่อและแม่ครบถ้วนเพียงร้อยละ 62 มีเด็กถูกเลี้ยงโดยพ่อหรือแม่ร้อยละ 14 คือพ่อแม่ทำงานอยู่คนละจังหวัดร้อยละ 49 พ่อแม่แยกทางกันร้อยละ 32 พ่อหรือแม่เสียชีวิตร้อยละ 8 แบบที่ 2 เด็กที่พ่อแม่ปล่อยให้อยู่กับผู้สูงอายุ หรืออยู่ในครอบครัวที่แหว่งกลาง (Skip generation) คือ มีเฉพาะผู้สูงอายุกับเด็ก ซึ่งขณะนี้พบในชนบทมากกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ 6 ของครัวเรือน และ รูปแบบที่ 3 คุณภาพของการศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียน จากการสำรวจพบเด็กอายุ 3-4 ปี ร้อยละ 73 กำลังเรียนอยู่ในโปรแกรมก่อนวัยเรียน ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ภาคเหนือมีอัตราเข้าเรียนสูงสุดร้อยละ 82 ซึ่งคุณภาพการส่งเสริมการเรียนรู้จากศูนย์เด็กเล็ก จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ

 “ผลจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยปู่ ย่า ตา ยาย จะเสียเปรียบด้านการศึกษามากกว่าเด็กที่เลี้ยงโดยพ่อแม่ เนื่องจากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่สอดคล้องกับช่วงวัย มาตรการเพิ่มพัฒนาการของเด็กไทยได้ร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุข ในการดูแลเด็กพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย เด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอด และเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสังคม พร้อมทั้งเข้าไปร่วมในคัดกรองเด็ก และการพัฒนาขีดความสามารถของศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งกระตุ้นพัฒนาการ และความสามารถของเด็กได้อย่างเหมาะสม” นพ.เจษฎา กล่าว

 ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลจะพบว่าไอคิวของเด็กเมือง กับเด็กในชนบทต่างกันอยู่มากถึง 11 จุด ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะโภชนาการที่แตกต่างกันมา และสภาพของครอบครัว โดยจะเห็นว่าเด็กชนบทมีแนวโน้มอยู่ในครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่ แยกทางกัน หรือพ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยายมากขึ้น วันนี้เด็กเข้าสู่ระบบศูนย์ฯ กันมากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ดังนั้น ต้องทำให้ศูนย์ฯ มีคุณภาพ

 อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งนี้ยังพบอีกว่าระดับความสามารถทางอารมณ์ (อีคิว:EQ) ของเด็กชนบทจำนวน 3,696 คน พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติสะท้อนให้เห็นว่าเด็กๆ ยังมีพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดีแต่ก็ต้องดูแลต่อเนื่อง เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็จะมีผลต่อสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปด้วยตรงนี้ ต้องอาศัยทุกภาคส่วนทำให้เด็กไทยมีไอคิวควบคู่กับอีคิวในระดับที่ดี

 “เด็กชนบทจะมีปัญหาเรื่องความรักความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งมีผลกับการสร้างพัฒนาการของเด็ก ขณะที่เด็กเมืองเราก็พบว่าติดเกม ติดเทคโนโลยี ทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม รอคอยไม่เป็น ให้ความรักกับคนอื่นไม่เป็น” พญ.อัมพร กล่าว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น